วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย

พระราชพิธี
คำนำ
เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน
………………..
            พระราชพิธีซึ่งมีสำหรับพระนคร ที่ได้เคยประพฤติมาแต่ก่อนถึงปัจจุบันนี้ อาศัยที่มาเป็น 2 อย่าง อย่างหนึ่งมาตามตำราไสยศาสตร์ที่นับถือพระเป็นเจ้า อิศรว นารายณ์ อย่างหนึ่งมาตามพระพุทธศาสนา แต่พิธีที่มาจากต้นเหตุทั้งสองอย่างนี้ มาคละระคนกันเป็นพิธีอย่างหนึ่งขึ้นก็มี ด้วยอาศัยเหตุที่แต่เดิมพระเจ้าแผ่นดินและชาวพระนครถือศาสนาพราหมณ์ การใดๆ ซึ่งนับว่าเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่พระคนรตามคัมภีร์ไสยศาสตร์ก็ประพฟติเป็นราชประเพณีสำหรับพระนครตามแบบอย่างนั้น ครั้นเมื่อภายหลังพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรนับถือพระพุทธศาสนา ถึงว่าพระพุทธศาสนาที่เป็นต้น เดิมแท้ไม่มีฤกษ์ภาพิธีรีตองอันใด ด้วยพระพุทธเจ้าย่อมตรัสว่าฤกษ์ดี ยามดี ครู่ดี ขณะดี การบูชาเซ่นสรวงดี ทั้งปวงย่อมอาศัยความสุจริตในไตรทวาร ถึงแม้ว่าการซึ่งจะเป็นมงคลและเป็นอวมงคลก็ดี ก็อาศัยที่ชนทั้งปวงประพฤติการสุจริตทุจริตเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้น การพระราชพิธีใดๆ ซึ่งเกี่ยวข้องเจือปนในอยู่ในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีคำอ้างมาว่าตามทางพุทธศาสนานับเอาเป็นคู่ไสยศาสตร์นั้น จะอ้างว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติหรือแนะนำไว้ให้ทำนั้นไม่ได้ มีอย่างเดียวแต่การพระราพิธีทั้งปวง บางอย่างต้องกับคำที่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญ บางอย่างต้องกับคำที่พระพุทธเจ้าตรัสติเตียนเมื่อว่าโดยย่อแล้ว การอันใดที่เป็นสุจริตในไตรทวาร พระพุทธเจ้าก็ตรัสสรรเสริญ การสิ่งนั้นว่าเป็นดี การสิ่งใดที่เป็นทุจริตก็ย่อมทรงติเตียนว่าการสิ่งนั้นเป็นการชั่ว เพราะฉะนั้นการพระราชพิธีที่อ้างว่าตามพระพุทธศาสน์นั้นควรจะต้องเข้าใจว่า เป็นแต่อย่างประพฤติของผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาได้ประพฤติมาแต่ก่อน การที่ประพฤตินั้นไม่เป็นการมีโทษที่พระพุทธเจ้าจะพึงติเตียน การพระราชพิธีเช่นนี้นับว่าเป็นการมาตามทางพุทธศาสน์
            แต่ส่วนพระราชพิธีซึ่งคละปะปนทั้งพุทธศาสน์และไสยศาสตร์นั้น ก็เกิดขึ้นด้วยเดิมทีพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรนับถือศาสนาพราหมณ์ดังว่ามาแล้ว ครั้นเมื่อได้รับพระพุทธศาสนามาถือ พระพุทธศาสนาไม่สู้เป็น
ปฏิปักษ์คัดค้านกันกับศาสนาอื่น ๆ เหมือนศาสนาพระเยซูหรือศาสนามะหะหมัด พระพุทธเจ้ามีพิธีประสงค์อย่างเดียว แต่ที่จะแสดงเหตุที่เป็นจริงอยู่อย่างไร และทางที่จะระงับดับทุกข์ได้ด้วยอย่างไร ตามซึ่งพระองค์ตรัสรู้ด้วยพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ไม่พยากรณ์กล่าวแก้ในถ้อยคำความเห็นของชนทั้งปวงที่กล่าวแก่งแย่งงกันอยู่ต่างๆ ด้วยเห็นไม่เป็นประโยชน์อันใดซึ่งสมควรจะนับถือลัทธิไสยศาสตร์ แต่ผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาในชั้นหลังซึ่งยังไม่ได้บรรลุมรรคผล ย่อมมีความหวาดหวั่นสะดุ้งสะเทือนด้วยภัยอันตรายต่างๆ และมีความปรารถนาต่อความเจริญรุ่งเรืองแรงกล้า เมื่อได้เคยประพฤตินับถือกลัวเกรงพระเป็นเจ้าและเทพยดา ซึ่งว่ามีฤทธิ์อำนาจอาจจะลงโทษแก่ตนและผู้อื่นได้ในเหตุซึ่งมิใช่เป็นความยุติธรรมแท้ คือบันดาลให้เกิดไข้เจ็บต่างๆ โดยความโกรธความเกลียดว่าไม่เคารพนบนอบบูชาตน หรืออยู่ดีๆ สบใจร้ายขึ้นมาก็ทำพิษสงให้คนทั้งปวงลำบากด้วยความเจ็บไข้กันดารด้วยเสบียงอาหารเป้นต้น จึงได้คิดทำการบุชาเซ่นสรวงให้เป็นเครื่องป้องกันความผิด อันผู้มีอำนาจมีใจเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทไม่เคารพนบนอบ หรือประจบประแจงไว้จะได้สบายๆ ใจไม่มีร้ายขึ้นมา ความเชื่อถือมั่นหมายในการอย่างนี้มีฝังอยู่ในใจคนทั้งปวงสืบลูกหลานสิบชั่วคน และอาศัยเหตุผลซึ่งเป็นการเผอิญเป็นไปเฉพาะถูกคราวเข้ามีอยู่เนื่องๆ เป็นเครื่องประกอบให้คิดเห็นว่าเป็นเพราะผีสางเจ้านายกริ้วโกรธเช่นกล่าวมาแล้ว จึงทำให้ความหวาดหวั่นกลังเกรงนั้นไม่ขาดสูญไปได้ เมื่อมีความกลัวอันตรายอยู่ดังนี้แล้ว ส่วนความปรารถนาจะยากดีอยากสบายนั้นแรงกล้า ก็ชักพาให้หันเข้าหาควาอ้อนวอนของร้องเซ่นสรวงบูชาให้ช่วยแรงเข้าอีกตามความปรารถนาอันแรงกล้า ด้วยเหตุดังนี้แล ถึงแม้ว่าคนไทยถือพระพุทธศาสนาก็ยังหาอาจที่จะละทิ้งการบูชาเซ่นสรวงไปได้ไม่ การพระราชพิธีตามไสยศาสตร์จึงไม่ได้เลิกถอน เป็นแต่ความนับถือนั้นอ่อนไป ตกอยู่ในทำไว้ดีกว่าไม่ทำ ไม่เสียหายอันใดนัก
            แต่การพิธั้งปวงนั้นก็ย่อมเลือกฟั้นแต่การสุจริตในไตรทวารไม่รับลัทธิ ซึ่งเป็นการทุจริตของพวก
พรามหณ์ฮินดูบางพวก ซึ่งมีลัทธิร้ายกาจ เช่น ฆ่าสัตว์บูชายัญเป็นต้น มาถือเป็นธรรมเนียมบ้านเมืองให้เป็นการขัดขวางต่อพระพุทธศาสนา และการพระราชพิธีอันใดซึ่งมีแต่พิธีพราหมณ์อย่างเดียว ก็ย่อมเพิ่มเติมการพระราชกุศลซึ่งเป็นการทานมัย ศีลมัย ภาวนามัย เจือปนเข้าในพระราชพิธีนั้นยกเป็นต้นเหตุ การบูชาเซ่นสรวงเทพยดาพระอิศรว พระนารายณ์ เป็นต้น เปลี่ยนลงไปเป็นปลายเหตุทำไปตามเคย ตกอยู่ในเคยทำมาแล้วก็ทำดีกว่าไม่ทำ และการที่ทำนั้นก็ไม่เป็นการมีโทษอันใด และไม่เปลืองเบี้ยหอยเงินทองอันใดมากนัก ซึ่งกล่าวมาทั้งปวงนั้นทำสำหรับประโยชน์อันใด และเพื่อว่าผู้มีความสงสัย ว่าพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรก็ถือพระพุทธศาสนา เหตุใดจึงทำพิธีตามลัทธิไสยศาสตร์อยู่ความดำริของท่านผู้ปกครองแผ่นดินมาแต่ก่อนคิดเห็นการดังเช่นกล่าวมานี้แล จึงยังได้ทำการพระราชพิธีทั้งปวงซึ่งเป็นการสำหรับพระนครสืบมา
            ก็แลพระราชพิธีที่มีมาในพระราชกำหนดกฎมนเทียรบาลซึ่งได้ตั้งขึ้นแต่แรกสร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ แสดงพระราชพิธีประจำเดือน ๑๒ เดือนไว้ ว่าเป็นการซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงทำว่าเป็นการเป็นมงคลสำหรับพระนครทุกปีมิได้ขาดนั้น คือ
เดือนห้า             การพระราชพิธีเผด็จศึก ลดแอกออกสนาม
เดือนหก            พิธีไพศาขย์ จรดพระนังคัล
เดือนเจ็ด            ทูลน้ำล้างพระบาท
เดือนแปด          เข้าพรรษา
เดือนเก้า            ตุลาภาร
เดือนสิบ            ภัทรบทพิธีสารท
เดือนสิบสอง      อาศยุชยแข่งเรือ
เดือนอ้าย           ไล่เรือ เถลิงพิธีตรียัมพวาย
เดือนยี่               การพิธีบุษยาภิเษก เฉวียนพระโคกินเลี้ยง
เดือนสาม           การพิธีธานยเทาะห์
เดือนสี่              การพิธีสัมพัจฉรฉินท์
การพพระราชพิธีที่กล่าวมา ๑๒
อย่างนี้ คงได้ทำอยู่ที่กรุงเทพฯ นี้แต่เดือนหา เดือนหก เดือนสิบสอง เดือนสี่ แต่พิธีเดือนอ้ายเปลี่ยนมาเป็นเดือนยี่ ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า เปลี่ยนมาแต่กรุงเก่าแล้ว ด้วยเหตุว่าเดือนอ้ายพึ่งเป็นเวลาน้ำลด ถนนหนทางเป็นน้ำเป็นโคลนทั่วไป ย้ายมาเดือนยี่พอให้ถนนแห้ง แต่พระราชพิธีเดือนเจ็ด เดือนเก้า เดือนสิบเอ็ด เดือนยี่ ที่เปลี่ยนขึ้นไปเป็นเดือนอ้าย และพิธีเดือนสามนั้นตำราสูญเสีย ไม่ได้ทำที่กรุงเทพฯ ถึงที่กรุงเก่าก็ทำบ้างเว้นบ้าง ไม่เป็นการเสมอทุกปีตลอดไป แต่พิธีเดือนแปดนั้นเป็นการส่วนการพระราชกุศลในพระพุทธศาสนา เห็นจะเป็นส่วนเกิดขึ้นใหม่เมื่อถือพระพุทธสานา แต่พิธีพราหมณ์เดิมนั้นสาบสูญไม่ได้เค้าเงื่อนเลย ถึงพิธีที่ว่าสูญเสียไม่ได้ทำในกรุงเทพฯ นี้ ก็ได้เค้าเงื่อนทุกๆ พิธี เว้นแต่เดือนแปด หรือชะรอยจะเป็นพิธีซึ่งไม่เป็นการสุจริตในไตรทวารอย่างหนึ่งอย่างใดไม่สมควรแก่ผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาจะทำ จึงได้ยกเลิกเสียตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินถือพระพุทธศาสนามา เปลี่ยนเป็นพิธีตามพุทธศาสน์จึงได้สูญไป ที่ว่านี้เป็นแต่การคาดคะเน ส่วนการพระราชพิธีที่กรุงเทพฯ นี้คงตามอย่างเก่าแต่เดือนห้า เดือนหก เดือนสิบ เดือนสิบสอง เดือนยี่ เดือนสี่ เท่านั้นก็ดี ยังมีพระราชพิธีที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมขึ้นใหม่ จนเกือบจะครบสิบสองเดือนเหมือนของเก่า ซึ่งคิดจะกล่าวต่อไปในเบื้องหน้านี้
การซึ่งคิดว่าจะเรียบเรียงพระราชพิธีสอบสองเดือน ลงในหนังสือวชิรญาณครั้งนี้ ด้วยเห็นว่าคำโคลงพระราชพิธีทวาทศมาศ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบ ปรปักษ์ ทรงแต่งขึ้นไว้ กรรมสัมปาทิกปีกลายนี้ ได้นำมาลงไว้ในหนังสือวชิรญาณเกือบจะตลอดอยู่แล้ว แต่คำโคลงนั้นท่านก็ทรงไม่ทันจดครบสิบสองเดือน และในสำเนาความนั้นว่าความละเอียดทั่วไปจนการนักขัตฤกษ์ ซึ่งเป็นส่วนของราษฎร ข้อความที่ว่าพิศดารมากกว่าตัวโคลงที่จะทำ จึงต้องประจุถ้อยคำลงให้แน่น บางทีผู้ซึ่งไม่สู้สันทัดในการกาพย์ โคลง ก็อ่านเข้าใจ และในครั้งนี้ได้คิดที่จะช่วยกันแต่ง เรียบเรียงข้อความในความประพฤติของราษฎรประชาชนในกรุงสยาม ซึ่งได้เล่นการนักขัตฤกษ์ตามฤดูปีเดือน เพื่อจะให้เป็นประเพณีบ้านเมมืองอยู่ในบัดนี้ หรือในชั้นพวกเราทุกวันนี้ที่ยังไม่ได้ทราบ ได้เห็นการประพฤติทั่วไปของชนทั้งปวงก็จะได้ทราบ เหมือนอย่างช่วยกันสืบสานมาเล่าสู่กันฟัง ส่วนในการพระราชพิธีประพฤติเป็นไปอยู่ในราชการนี้ก็เป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการพร้อมกันคราวหนึ่ง ครั้นจะรวบรวมลงเป็นเรื่องเดียวกันกับการนักขัตฤกษ์ของราษฎร ก็จะเป็นความยืดยาวปะปนฟั่นเฝือกันไป จึงได้คิดแยกออกไว้เสียต่างหาก คิดกำหนดแบ่งข้อความเป็น ๑๒ ส่วน ส่วนละเดือน กำหนดจะให้ได้ออกในวันสินเดือนครั้งหนึ่งไปจนตลอดปี แต่เดือนหนึ่งจะมากบ้างน้อยบ้างตามการที่มีมากและน้อย หวังใจว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ซึ่งจะใคร่ทราบเวลาประชุมราชการได้ ตามสมควรแก่เรื่องราวซึ่งนับว่าเป็นแต่พระราชพิธี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น