วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและการสืบค้น

การเขียน การอ่าน การพูด
                ดังได้กล่าวไว้แล้วว่า ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อความหมายที่มีระบบ ใช้เป็นสื่อกลางเพื่อแสดงความคิดของมนุษย์ และเป็นที่ยอมรับกันในหมู่ชนที่ใช้ภาษาเดียวกัน
                เมื่อเริ่มมีกลุ่มสังคมขึ้นมาในโลกนี้ การสื่อสารแรกสุดก็คือการใช้ภาษาพูด ต่อมาเมื่อมนุษย์ในสังคมนั้นต้องการบันทึกสิ่งที่ได้พูดไปแล้ว หรือต้องการสื่อในยามที่มิได้เห็นหน้ากันมนุษย์จึงพัฒนาภาษาเขียนขึ้นมา และจำเป็นต้องกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้คนในสังคมเดียวกันสามารถใช้เครื่องมือนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือให้สามารถสื่อให้ตรงกันได้ เราจึงมีการกำหนดการเขียนรูปคำ และรูปประโยค และต้องมีการสืบทอดกระบวนการด้วยการเรียนการสอน การเขียนจึงเป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่งที่มนุษย์ในสังคมร่วมกันกำหนดขึ้น มิใช่ความสามารถโดยธรรมชาติในอันที่จะเรียนรู้และเลียนแบบภาษาพูด หากไม่มีการศึกษาในด้านนี้ มนุษย์ก็คงจะเขียนไม่ได้ แต่ก็ยังพูดภาษานั้นๆ ได้ ดังจะเห็นได้ว่ายังมีคนที่พูดภาษาได้ แต่เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก และบางภาษาที่มีแต่ภาษาพูด แต่ยังไม่ได้พัฒนาภาษาเขียนขึ้นมา
                สำหรับภาษาไทย เรามีทั้งการพูดและการเขียนเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้แล้ว เราก็ยังมีการอ่าน เพื่อรับสาร หรือถ่ายทอดสารที่ได้บันทึกไว้แล้วออกมาเป็นเสียง การอ่านจึงเป็นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันด้วย การอ่านในที่นี้จะขอจำกัดวงไว้ที่การอ่านออกเสียงเท่านั้น ส่วนเรื่องการอ่านเพื่อเอาความ อ่านเพื่อเอารส ฯลฯ จะไม่กล่าวถึงในที่นี้
                พระยาอุปกิตศิลปสาร เคยให้คำแนะนำเรื่องการอ่านไว้ว่า
                                ลีลาในการอ่านนั้นควรเป็นดังนี้
                                ข้อสำคัญในการอ่านนั้น ต้องอ่านให้ชัด และให้ดังพอที่ผู้ฟังจะได้ยินทั่วกัน แต่ไม่ให้ดังเกินไปจนเป็นร้องขายขนม…”
                                หากเป็นข้อความทั่วไปหรือที่เรียกว่าร้อยแก้ว ท่านแนะนำว่าควรอ่านดังนี้
                                “() พยายามให้เป็นเสียงพูด
                                () คำขึ้นต้นความ ให้ดังและให้ช้ากว่าปกติเล็กน้อย เพื่อให้ผู้ฟังกลับจิตมาตั้งใจฟัง แล้วจึงผ่อนเสียงลงเป็นปกติ และเร็วเข้าโดยลำดับจนลงวรรคจึงหยุด และขึ้นต้นอีกก็ให้ดังและช้าดังว่าแล้ว
                                () พยายามหยุดหายใจในที่จบวรรคหรือจบคำ อย่าหยุดคาบคำ เช่น สามัคยาจารย์ สโมสรดังนี้ ถ้าคำใดเป็นคำสำคัญก็ให้เน้นถ้อยคำขึ้นให้ชัดเจน หรือเรื่องราวเขากล่าวเป็นข้อๆ เช่น ศีลห้า คือเว้นการฆ่าสัตว์ เว้นลักทรัพย์ ฯลฯ ต้องทอดจังหวะเป็นข้อๆ ไป
                                () ต้องให้เป็นไปตามเนื้อเรื่อง คือถึงเรื่องดุก็ให้เสียงแข็งและเร็วเข้า ถึงเรื่องอ้อนวอนก็ทอดให้เสียงอ่อนหวานลง เป็นต้น ให้ถือเอาตอนที่คนพูดกันเป็นหลัก
                นั่นก็คือ ภาษาคือภาษาพูด เมื่อบันทึกลงเป็นตัวเขียนแล้ว จะถ่ายทอดกลับก็ต้องกลับมาเป็นการพูด และธรรมชาติของเสียงพูดนั้นจะลงเน้นหนักไปตามจังหวะ ฉะนั้นคำที่เขียนด้วยสระยาวจึงอาจจะออกเสียงสั้นลง และที่เขียนด้วยสระสั้นก็อาจจะเสียงเบาลงไปอีก เช่น มะนาว (-นาว) ประเพณี (ปร เพ นี) การพูดจาสื่อสารกันจึงไม่จำเป็นต้องออกเสียงสระสั้นยาวตรงตามตัวเขยียนเพราะจะมีลักษณะผิดธรรมชาติ เหมือนกับเสียงจากหุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์ในสมัยแรก
               
การเปลี่ยนแปลงของภาษาในสังคมไทย
                การเปลี่ยนแปลงของภาษามีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากตัวภาษาเอง และการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก
                การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากตัวภาษาเองเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดตามธรรมชาติ และตามกาลเวลา ภาษาทุกภาษาในโลกจะเปลี่ยนแปลงเสมอเมื่อกาลเวลาผ่านไป ดังเช่นที่ภาษาไทยในปัจจุบันมีความแตกต่างจากภาษาไทยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
                ส่วนการเปลี่ยนแปลงของภาษาที่เกิดจากปัจจัยภายนอกนั้นอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยทางสังคม เช่น การอพยพย้ายถิ่น การติดต่อค้าขาย การไปมาหาสู่  การแต่งงานข้ามชาติ การตกเป็นอาณานิคม ในปัจจุบันนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ได้รับวัฒนธรรมตะวันตกทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวีถีความเป็นอยู่ ภาษาในสังคมก็ย่อมต้องขยายตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย
                การเปลี่ยนแปลงของภาษาอาจจะพิจารณาได้จากมุมมอง 2 มิติ คือ มิติของการลู่ออกของภาษา (linguistic divergence) และมิติของการลู่เข้าของภาษา (linguistic convergnece)

การลู่ออกของภาษา
                การลู่ออกของภาษา หมายถึงการที่ภาษาใดภาษาหนึ่งแตกตัวกลายเป็นภาษาย่อยหลายภาษาหรือการที่ภาษาย่อยต่างๆ ของภาษาใดภาษาหนึ่งพัฒนาความแตกต่างจากกันและกัน จนในที่ก็ไม่เข้าใจกันจนกลายเป็นคนละภาษา สาเหตุของการลู่ออกของภาษาได้แก่ การอพยพย้ายถิ่น หรือการขาดการติดต่อสื่อสารของผู้พูดภาษา
                การลู่ออกของภาษาเน้นการเปลี่ยนแปลงของภาษาที่เกิดจากตัวของมันเอง เมื่อผู้พูดอยู่ห่างกัน ภาษาที่พูดก็พัฒนาไปคนละทาง เวลายิ่งผ่านไป ก็ยิ่งแตกต่างกันมากขึ้น ตัวอย่าง เช่น ภาษาย่อยต่างๆ ของประเทศอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสในประเทศฝรั่งเศสและในประเทศแคนาดา ภาษาไทยในประเทศไทยและในถิ่นชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน

การลู่เข้าของภาษา
                การลู่เข้าของภาษา หมายถึงการที่ภาษาตั้งแต่ 2 ภาษาขึ้นไปต่างเปลี่ยนแปลงไปจนมีลักษณะคล้ายคลึงกัน สภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะการสัมผัสภาษา ซึ่งเกิดขึ้นในตัวผู้พูดสองภาษาหรือหลายภาษา การใช้ภาษาสองภาษาหรือหลายภาษาสลับกัน ทำให้ภาษาเหล่านั้นยืมลักษณะซึ่งกันและกัน สภาวะเช่นนี้ถ้าเกิดขึ้นกับคนหมู่หมายและเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ภาษาเหล่านั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากทั้งๆ ที่ไม่ใช่ภาษาตระกูลเดียวกัน เช่น ภาษาไทย ภาษาเขมร ภาษามาเลย์ ลู่เข้าหากันจนมีลักษณะทางไวยากรณ์เหมือนกัน เช่น มีการเรียงคำเหมือนกัน และมีการใช้คำโดด โดยไม่เติมวิภัตติปัจจัย เป็นต้น

การลู่เข้าหากันของภาษาในสังคมไทย
                ภาษาไทยถิ่นต่างก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นด้วยอิทธิพลของการสัมผัสภาษา มีหลักฐานแสดงว่า ภาษาไทยถิ่นใต้ได้ยืมคำในภาษาไทยภาคกลางเข้าไปใช้ แต่ยังเก็บวรรณยุกต์ไว้เช่นเดิม จึงกลายเป็นลักษณะลูกผสม นอกจากนี้ เสียงพยัญชนะที่เป็นลักษณะเด่นของภาษาปักษ์ใต้ เช่น เสียง ฮ ขึ้นจมูก กำลังจะสูญหายไป เพราะคนใต้ (เช่น สงขลา) รับเอาเสียง ง ในภาษาไทยมาตรฐานเข้าไปใช้แทน เช่น ในคำว่า เงิน งู เป็นต้น
                ในภาษาสุพรรณบุรี วรรณยุกต์สูงตก เช่น ในคำว่า หู ขา (ออกเสียงเป็น หู้ ข้า) กำลังจะค่อยๆ หายไป เพราะอิทธิพลของการสัมผัสภาษากับภาษาไทยมาตรฐาน

การเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยมาตรฐาน
                ภาษาไทยมาตรฐานเป็นภาษาที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะมีคนใช้มาก และรับผลกระทบจากภายนอกมากที่สุด
                ดังได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า ภาษานั้นมีทั้งการเปลี่ยนแปลงและการแปร การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เป็นไปตามกาลเวลา ไม่สามารถจะหวนกลับมาได้อีก เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ศัพท์และความหมาย ดังจะเห็นได้ใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่เก็บคำเหล่านี้ไว้ แต่จัดให้เป็นคำโบราณ (โบ) การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับกันในสังคมไทย แต่การแปรภาษาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ผู้ใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารจึงยังถกเถียงกันอยู่ว่า รูปแบบใดควรจะเป็นรูปแบบที่ถูกต้อง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การออกเสียง ร ล และการออกเสียงควบกล้ำ ซึ่งสังคมไทยยอมรับว่าเป็นเครื่องหมายแสดงความมีการศึกษา และการมีสถานภาพสูงทางสังคมถึงแม้จะมีผู้ออกเสียง ร ล เหมือนกัน หรือออกเสียงควบกล้ำไม่ได้ในการสื่อสารที่ไม่เป็นทางการ แต่เมื่อจะสื่อสารอย่างเป็นทางการ ก็ยังยอมรับรูปแบบดังกล่าวอยู่
                ข้อขัดแย้งอีกประการหนึ่งก็คือ การอ่านคำไทยได้ 2 แบบ คือ แบบ ตามหลักและ ตามความนิยมเช่น คำว่า มกราคม อ่านตามหลักว่า มะ กะ- รา คม อ่านตามความนิยมว่า มก กะ - รา คม ในเรื่องนี้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน และ หนังสืออ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ระบุว่าอ่านได้ทั้งสองแบบ ส่วนงานวิจัยของ อุดม  วโรตม์สิกขดิตถ์ และคณะ ได้ใช้หลักทางภาษาศาสตร์วิเคราะห์ให้เห็นว่า การออกเสียง ตามความนิยมคือ การออกเสียงตามหลักภาษาศาสตร์ และการออกเสียง ตามหลักคือการออกเสียงตามหลักเดิมซึ่งเป็นการออกเสียงแบบเรียงพยางค์ผสมแบบไทย แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้ใช้ภาษาบางกลุ่มที่นิยมแบบใดแบบหนึ่ง แล้วปฏิเสธอีกแบบหนึ่ง
                ข้อขัดแย้งประการสุดท้ายก็คือ การใช้ภาษาไทยปะปนกับภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลักเลี่ยงมิได้เมื่อคำนึงถึงสภาพสังคมในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีข้อขัดแย้งกันอยู่ว่า ควรจะให้มีการปะปนอย่างไร และเพียงใดจึงจะเหมาะสม ผู้ใช้ภาษาคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงจะยอมรับการปะปนเช่นนี้ได้ เพราะในอดีต ภาษาต่างประเทศภาษาอื่นๆ ก็เคยเข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทยแล้ว เช่น ภาษาบาลี สันสกฤต เขมร ฯลฯ แต่เนื่องจากภาษาเหล่านี้ได้เข้ามาสู่ภาษาไทยนอนแล้วและได้กลมกลืนเข้าสู่ระบบของภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาปัจจุบันจึงไม่รู้สึกว่าภาษาต่างประเทศ แต่ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่เข้ามาใหม่ ผู้ใช้ภาษาบางกลุ่มจึงต่อต้าน
                ภาษาเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันจึงมีความหลากหลายดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้ใช้ภาษาจึงควรศึกษา สังเกต และฝึกฝน เพื่อให้สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทสรุป
                ภาษาคือเครื่องมือสื่อสารของมนุษย์ การที่จะสื่อสาร ได้ดีมีประสิทธิภาพนั้นก็คือการใช้ภาษาที่สามารถสื่อกันได้รู้เรื่อง ในแต่ละสังคมถึงแม้ว่าจะมีการใช้ภาษาหลายภาษา แต่ก็ย่อมต้องมีภาษาที่สังคมนั้นสื่อสารกันได้รู้เรื่องมากที่สุด ในสังคมโลกภาษาที่ใช้สื่อสารกันในวงการธุรกิจและเทคโนโลยีคงจะไม่มีภาษาใดที่ได้รับความนิยมมากไปกว่าภาษาอังกฤษ แต่ในสังคมไทยไม่มีภาษาใดที่คนไทยจะเข้าใจได้มากไปกว่าภาษาไทย ชาวต่างประเทศที่ต้องการติดต่อสื่อสารกับคนไทยให้ได้ผลดีที่สุดก็ยังต้องเรียนภาษาไทยเพื่อให้เข้าใจคนไทยในสังคมไทยได้ แม้แต่คอมพิวเตอร์ก็ยังต้องมีภาษาไทยเอาไว้สื่อสารกับคนไทย
                คนไทยทุกสาขาอาชีพหนีไม่พ้นที่จะต้องสื่อสารกับคนไทยกันเองด้วยภาษาไทย ถึงแม้ว่าจะต้องใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อสื่อสารกับคนต่างชาติหรือเพื่อแสวงหาความรู้ในโลกกว้างก็ตามถึงแม้ว่าจะมีการสนับสนุนให้คนไทยเรียนภาษาต่างประเทศ หรือมีความจำเป็นต้องยืมคำภาษาต่างประเทศใหม่ๆ มาใช้ แต่ภาษาที่ใช้สื่อก็ยังคงเป็นภาษาไทยอยู่นั่นเอง ทว่าภาษาไทยในปัจจุบันนี้อาจจะมีรูปแบบที่ไม่เหมือนกับเมื่อร้อยปีหรือห้าสิบปีก่อน แต่โดยเนื้อแท้ก็ยังคงเป็นภาษาไทยอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นภาษาไทยจึงผสมผสานอยู่ในสังคมไทยอย่างแยกไม่ออก นี่คือ บูรณาการแบบธรรมชาติที่ผู้ใช้ภาษาบางคนอาจจะนึกไม่ถึง
                ในด้านการสืบค้น ถึงแม้ว่าข่าวสารข้อมูลในปัจจุบันจะเต็มไปด้วยภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ แต่ข้อมูลภาษาไทยก็ยังนับได้ว่าเป็นข้อมูลที่มีค่ายิ่งต่อคนไทย ในด้านการสืบค้นนี้ ภาษาเขียนนับได้ว่ามีความสำคัญยิ่ง คนไทยในภาคต่างๆ หรือแม้แต่ในภาคเดียวกันก็อาจจะออกเสียงต่างๆ กันไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้รู้ว่าเป็นเรื่องเดียวกันก็คือภาษาเขียน โดยเฉพาะการสะกดการันต์ที่อยู่ในรูปแบบเดียวกัน ฉะนั้นการเขียนคำตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน และการสะกดการันต์ตามอักขระวิธีไทยจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ค้นหาข้อมูลได้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง
                การเขียน การอ่าน และการพูดภาษาไทยให้ถูกต้องเหมาะสมนอกจากจะทำให้สื่อสารและสืบค้นได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยให้เห็นภูมิปัญญาอันภูมิฐานของผู้ใช้ภาษาอีกด้วย
                เสื้อผ้าซึ่งตัดเย็บอย่างประณีตช่วยเสริมบุคลิกของผู้สวมใส่ฉันใด การใช้ภาษาอย่างถูกต้องเหมาะสมก็เสริมบุคลิกของผู้ใช้ภาษาฉันนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น